Thursday, November 22, 2007

เทศกาลปีใหม่


ความหมายความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชตบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า " ปี" ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ความเป็นมาในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรก


การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆ มา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการจัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์


ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป


เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย


กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ


วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น


กิจกรรมวันที่ 1 มกราคมของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย

เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
ทำนอง:
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ




เทศกาลสงกรานต์


“สงกรานต์” คือ วันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทยและเป็นโอกาสที่สมาชิกในครอบครัวจะได้พบกันพร้อมหน้าพร้อมตา ในช่วงเวลานี้ประชาชนผู้ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ก็จะเดินทางไปฉลองเทศกาลนี้ที่บ้านเกิดของตน ดังนั้นเมื่อเทศกาลนี้มาถึงกรุงเทพมหานครก็จะกลายเป็นเมืองร้างไปชั่วคราว

เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายนและการฉลองประจำปีก็จะจัดให้มีขึ้นทั่วทั้งราชอาณาจักร ที่จริงแล้วคำว่า “สงกรานต์” นี้เป็นภาษาไทยซึ่งหมายถึง “เคลื่อนย้าย” หรือ “เปลี่ยนที่” เพราะว่าเป็นวันที่พระอาทิตย์เปลี่ยนตำแหน่งในทางจักรราศี นอกจากนี้ยังเรียกว่า “เทศกาลน้ำ” อีกด้วย เพราะว่าประชาชนเชื่อว่าน้ำจะพัดพาเอาสิ่งที่เป็นอัปมงคลออกไป

วันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของไทยนี้เริ่มต้นแต่เช้าตรู่ด้วยการทำบุญตักบาตรแก่พระสงฆ์และปล่อยนกที่ขังไว้ให้เป็นอิสระ ในช่วงวาระโอกาสอันเป็นมงคลนี้ สัตว์ต่างๆ ที่ถูกขังไว้ก็จะได้รับการปล่อยให้เป็นอิสระ พร้อมกันนี้การไหว้บรรพบุรุษก็เป็นส่วนสำคัญของวันนี้ด้วย ประชาชนจะแสดงความเคารพต่อผู้สูงอายุ และในทางกลับกันผู้สูงอายุก็จะอวยพรให้ผู้น้อยประสบโชคดีและเจริญรุ่งเรือง

ในตอนบ่าย หลังจากพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์แล้ว ผู้ร่วมฉลองทั้งหนุ่มและแก่ต่างสาดน้ำใส่กันอย่างสนุกสนาน การฉลองที่มีคนกล่าวขานกันมากที่สุดเห็นจะเป็นที่จังหวัดทางภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ซึ่งการฉลองที่นี่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ช่วงเวลานี้ประชาชนจากทั่วทุกภาคของประเทศจะแห่กันไปที่นั่นเพื่อร่วมสนุกสนานในเทศกาลน้ำนี้ เพื่อชมการประกวดนางงามสงกรานต์และขบวนพาเหรดที่สวยงาม

ในกรุงเทพมหานคร พระพุทธรูป “พระพุทธสิหิงค์” จะถูกอัญเชิญจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาประดิษฐานไว้ที่ท้องสนามหลวง (ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง) เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำด้วย